วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

Chaho ร้านชาสำหรับคอชาเขียวญี่ปุ่น



เอาล่ะค่ะ เราก็ได้ทราบทั้งประวัติ ประเภทของชา ประโยชน์และโทษของชาเขียวกันแล้ว ในบทความนี้ ดิฉันจะมาแนะนำร้านชาเขียวที่น่าจะถูกคอบรรดาผู้คนที่คลั่งไคล้ชาเขียวกัน ร้านที่ว่านี้คือร้าน "chaho" ค่ะ เป็นร้านชาเขียวญี่ปุ่นแท้ 100% ทางร้านจะมีทั้งใบชาบรรจุถุงพร้อมชง อุปกรณ์การชงชา และยังมีชาเขียวเย็น ชาเขียวร้อน รวมถึงขนมหวานรสชาเขียวจำหน่ายอีกด้วย

หน้าร้าน Chaho 


เนื่องจากดิฉันชอบรับประทานชาเขียว ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวร้อน ชาเขียวเย็น หรือของหวานที่มีชาเขียวเป็นส่วนประกอบ ขอแค่มีคำว่าชาเขียวอยู่ ดิฉันสามารถทานได้หมด แต่ว่าเดี๋ยวนี้ร้านชาเขียวมีกันให้เกร่อไปหมด และแทบทุกร้านมักจะเป็นชาเขียวผสมนม คอชาเขียวบางท่านอาจไม่ชอบทาน เพราะว่ารสชาติค่อนข้างเลี่ยน และหวานมัน ผู้ที่ชอบทานชาเขียวแท้ ๆ แบบเต็มร้อย ดิฉันขอแนะนำร้านนี้ค่ะ เพราะชาเขียวเป็นชาเขียวแท้ คุณภาพดี มีทั้งเมนูที่เป็นชาเขียวแท้ และชาเขียวผสม นอกจากนี้ยังมีเมนูที่หลากหลาย ชาวคอชาเขียวทั้งหลายย่อมถูกอกถูกใจกับร้านนี้แน่นอนค่ะ 

เมนูของทางร้านค่ะ


เมนูชาเขียวแบบเซ็นฉะ (Sencha)


เซ็นฉะ (Sencha)  เซนชะจะมีกลิ่นหอมที่โดดเด่นเฉพาะตัว มีรสชาติหวานนุ่มลิ้น คำว่า “Sencha” หมายถึง ชาที่ถูกสกัดออกมา ซึ่งอ้างไปถึงวิธีทำชา ซึ่งทำมาจากใบชาแห้ง เซนชะเป็นชาที่มีวิตามินซีสูง และได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้หญิง เช่น ชาเขียวญี่ปุ่นแบบเซ็นฉะที่ต้มใบชาพร้อมกับข้าวคั่วญี่ปุ่น กลิ่นชาที่โชยหอมออกมาจะมีกลิ่นที่หอมมากเป็นพิเศษ เมื่อดื่มแล้วกลิ่นข้าวคั่วและใบชาจะตลบอบอวลไปทั่วทั้งปาก เพิ่มความอร่อยพร้อมความหอมในทันที


เมนูชาเขียวแบบเซ็นฉะที่อยากจะแนะนำคือ เมนูMatchairi 

Genmaicha เป็นชาเขียวญี่ปุ่นที่หอมกลิ่นข้าวคั่วญี่ปุ่นค่ะ 


เมนูชุด Matchairi Genmaicha
มีน้ำร้อนแยกมาต่างหากสำหรับการเติมน้ำชาค่ะ จัดมาเป็นชุด ๆ น่ารัก เข้าคู่กันมากค่ะ




เมนูชาเขียวแบบมัทฉะ (Matcha)
มัทฉะ (Matcha) ชาเขียวญี่ปุ่นแท้ 100% ไม่ผสมอย่างอื่น รสชาติฝาดและขมเล็กน้อย มีกลิ่นหอมค่อนไปทางฉุนเล็กน้อยของชาเขียว ชามัทฉะนี้เป็นชาเขียวญี่ปุ่นที่เมื่อนำไปตากแห้งแล้วก็นำมาบดเป็นผงด้วยเครื่องบดที่เป็นหิน เป็นชาเขียวแบบโบราณ ที่มีรสชาติฝาดคอเพราะดื่มผงมัทฉะลงไปด้วย รับประทานพร้อมกับขนมหวานไดฟุกุ

เมนูมัทฉะของทางร้าน chaho จะเสิร์ฟคู่กับขนมหวานไดฟุกุค่ะ

เมนูชุด Aoijirushi Nakanoshiro
แนะนำชามัทฉะชุด  Aoijirushi Nakanoshiro เสิร์ฟพร้อมขนมไดฟุกุรสชาเขียวค่ะ ไม่ค่อยขมเท่าไหร่แต่ฝาดคอหน่อย ๆ กลิ่นชาเขียวหอมฉุยมากค่ะ ไดฟุกุหอมกลิ่นชาเขียว รสชาติหวานมาก แต่แป้งเหนียวนุ่ม กินคู่กับชามัทฉะแล้วเข้ากันได้ดีค่ะ ที่ชามัทฉะไม่ค่อยขมอาจเป็นเพราะได้ขนมไดฟุกุมาช่วยชูรสไว้


แต่ถ้าหากใครไม่ชอบดื่มชาเขียวร้อนหรือชาเขียวแบบโบราณ ทางร้านก็มีเมนูเอาใจวัยรุ่นที่ชอบดื่มชาเขียวนะคะ

เมนูเครื่องดื่มเย็น (มีชาเขียวเป็นส่วนผสมหลักทั้งหมดค่ะ)
เครื่องดื่มชาเขียวเย็นเอาใจวัยรุ่น มีหลากหลายเมนูให้เลือกสรรค์ค่ะ




ชาโฮมัทฉะนมสดค่ะ สำหรับวัยรุ่นที่ชอบดื่มชาเขียวผสมนม

เอาล่ะค่ะ ขอจบการแนะนำเครื่องดื่มแต่เพียงเท่านี้ เรามาต่อกันด้วยของหวานดีกว่าค่ะ เอาให้เลี่ยนกันไปข้างเลยค่ะ =D

เมนูของหวานแบบชัด ๆ

น่าทานทุกอย่างเลยค่ะ แต่สภาพปัจจัยไม่เพียงพอ T^T เลือกอันที่น่ากินที่สุดแล้วกันค่ะ ที่เลือกมาคือ...


เมนู Matcha crape with chocolate sauce
เลือกเมนูชาโฮมัทฉะเครปมาค่ะ (ชื่อภาษาอังกฤษคือ Matcha crape with chocolate sauce) เป็นแผ่นแป้งรสชอคโกแลตบาง ๆ ซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น คั่นด้วยครีมรสชาเขียวเป็นชั้น ๆ เช่นกัน ราดด้วยชอคโกแลตเข้มข้น หวาน ๆ ปนขมเลยค่ะ รสชาติดีมาก คิดถูกที่เลือกเมนูนี้ค่ะ 


ขนมไดฟุกุรสชาเขียวค่ะ
รูปขนมไดฟุกุแบบชัด ๆ ค่ะ เป็นของหวานที่แนบมากับชุดชามัทฉะ 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับร้าน "chaho" ที่แนะนำไป เริ่มรู้สึกท้องร้องกันแล้วรึยังคะ? ร้านนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบชาเขียวญี่ปุ่น หรือสำหรับคนที่ชอบทานของหวานทุกคนนะคะ รับรองได้ว่ารสชาติถูกปากแน่นอนค่ะ สำหรับการแนะนำร้านชาเขียว คงต้องขอจบลงแต่เพียงเท่านี้แล้วนะคะ ขอบคุณที่ติดตามจนจบค่ะ 


สภาพก่อนและหลังสงคราม (ก่อนทานและหลังทาน)  =D



*ก่อนไป อย่าลืมชมคลิปวิดีโอบรรยากาศของร้านด้วยนะคะ รวมถึงคลิปสั้น ๆ สำหรับการแนะนำร้าน Chaho ค่า แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้านะคะ สวัสดีค่าาาาาาาา 




คลิปวิดีโอ บรรยากาศของร้าน CHAHO สาขาห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน




คลิปแนะนำร้าน Chaho แบบสั้น ๆ นะคะ











เกี่ยวกับ "ชาเขียว" (2)

ใบชาเขียวมีสารสำคัญ 2 ชนิด



คาเฟอีน (caffein)
ซึ่งมีอยู่ในชาเขียวประมาณร้อยละ 2.5 โดยน้ำหนัก ซึ่งสารชนิดนี้เองที่ทำให้น้ำชาสามารถกระตุ้น ให้สมองสดชื่น แจ่มใส หายง่วง เนื่องจากกาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เพิ่มการเผาผลาญ เพิ่มการทำงานของหัวใจและไต ผู้ป่วยโรคหัวใจก็ไม่ควรดื่มชา เนื่องจากกาเฟอีนมีคุณสมบัติในการกระตุ้นประสาทและบีบหัวใจ

แทนนิน หรือ ฝาดชา (tea tannin)
พบในใบชาแห้งประมาณร้อยละ 20-30 โดยน้ำหนัก เป็นสารที่มีรสฝาดที่ใช้บรรเทาอาการท้องเสียได้ ดังนั้นหากต้องการดื่มชาเขียวให้ได้รสชาติที่ดีจึงไม่ควรทิ้งใบชาค้างไว้ ในกานานเกินไป เพราะแทนนินจะละลายออกมามากทำให้ชาเขียวมีรสขม แต่ถ้าหากดื่มชาเขียวเพื่อจุดประสงค์ในการบรรเทาอาการท้องเสียก็ควรต้มใบชานาน ๆ เพื่อให้มีปริมาณแทนนินออกมามาก แทนนินยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ของกล้ามเนื้อหัวใจและขยายผนังหลอดเลือด จึงทำให้ชาเขียวเหมาะสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า สารแคทิชิน (catechin) ซึ่งเป็นสารแทนนินชนิดหนึ่งในชาเขียว มีฤทธิ์เป็นสารต้านการเกิดมะเร็ง


ข้อดีของชาเขียว
   - ต้านโรคไขข้ออักเสบ กล่าวกันว่าชาเขียวช่วยป้องกันโรคข้ออักเสบรูห์มาติก (rheumatoid arthritis) ที่มักจะเกิดกับสตรีวัยกลางคน อาการของโรคโดยทั่วไปคือมีอาการของการอักเสบบวมแดง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ
   - ลดระดับคอเลสเทอรอล สารแคเทชินในชาเขียว ช่วยทำลายคอเลสเทอรอล และกำจัดปริมาณของคอเรสเทอรอลในลำไส้ แค่นั้นยังไม่พอ ชาเขียวยังช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่พอดีอีกด้วย
   - ควบคุมน้ำหนัก ถ้าคุณกำลังพยายามลดน้ำหนักอยู่ การจิบชาเขียวสามารถช่วยได้ดีทีเดียว จากการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์พบว่า ชาเขียวช่วยเร่งให้ร่างกายมีการเผาผลาญอาหารและไขมันมากขึ้น
   - กลิ่นปากและแบคทีเรีย ป้องกันฟันผุ การดื่มชาเขียวนอกจากจะทำให้ร่างกายอบอุ่นแล้ว ยังช่วยทำให้ลมหายใจสดชื่นและป้องกันการติดเชื้อได้ด้วย อันที่จริงแล้วพบว่าชาเขียวเป็นตัวช่วยยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก ต่อสู้กับเชื้อไวรัสในปากโดยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ผลการทดลองชี้ว่ายาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากอย่างเดียวนั้น ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส ผลการศึกษาสรุปว่า สารพอลิฟีนอลส์ในชาเขียวช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียถึง 30% และลดการผลิตของสารประกอบที่เป็นสาเหตุทำให้ลมหายใจเหม็นบูด นอกจากนี้ชาเขียวมีสรรพคุณช่วยป้องกันฟันผุ โดยช่วยยับยั้งแบคทีเรียที่ชื่อ Streptococcus mutans ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดหินปูนที่มาเกาะฟัน คนส่วนใหญ่จะดื่มชาเขียวหลังอาหาร เพื่อช่วยให้ลมหายใจและกลิ่นปากสะอาดสดชื่น
   - ป้องกันเชื้อไวรัสเอชไอวี ข้อมูลในวารสารวิทยาภูมิคุ้มกันทางการแพทย์ และโรคภูมิแพ้ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายนตีพิมพ์ไว้ว่า สารแคเทชินในชาเขียวโดยเฉพาะ EGCG มีสรรพคุณป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ชาเขียวเข้มข้นช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเอชไอวี จับตัวกับเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิดที่มีความสำคัญต่อภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนเราที่เรียกว่า "ทีเซลล์" (T cells) ซึ่งเป็นด่านแรกที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้ ถ้ามีผลการศึกษาเพิ่มเติมยืนยันผลการวิจัยดังกล่าวนี้ นักวิจัยกล่าวว่าจะนำสารในชาเขียวมาใช้ทดลองในการผลิตยาชนิดใหม่ เพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อเอชไอวี

แน่นอนค่ะว่าของทุกอย่างมีข้อดีแล้วก็ย่อมมีข้อเสียด้วยเช่นกัน

โทษของชาเขียว
ชาเขียวมีประโยชน์ แต่ถ้าหากชาเข้มข้นเกินไป ก็อาจจะเกิดโทษได้เช่นกัน
   - ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไทรอยด์ จะมีอาการกระสับกระส่าย ใจเต้นเร็ว มือสั่นอยู่แล้ว การดื่มชาจะทำให้มีอาการเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น
   - หญิงมีครรภ์ ควรงดดื่มเพราะจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์
   - ในรายที่เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรงดดื่มชา เพราะกาเฟอีนจะทำให้หัวใจทำงานไม่ปกติ คือเต้นเร็วขึ้น (หากชอบดื่มชา ก็อาจเลือกชาชนิดที่สกัดกาเฟอีนออกแล้วก็ได้)
   - คนที่เป็นโคกระเพาะอาหารอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา เพราะชาจะกระตู้นให้ผนังกระเพราะอาหารหลั่งน้ำย่อยซึ่งมีสภาวะเป็นกรดมามากกว่าปกติ ทำให้อาการอักเสบยิ่งรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตามในกรณีที่เป็นโรคกระเพาะแต่เลิกดื่มชาไม่ได้ การเติมนมก็มีประโยชน์ เพราะนมยับยั้งแทนนินไม่ให้ออกฤทธิ์กระตุ้นน้ำย่อยในกระเพราะอาหาร
   - การดื่มชาแทนอาหารเช้าจะทำให้ ร่างกายขาดสารอาหาร จึงควรเติมนมหรือน้ำตาลอาจเพิ่มเพิ่มคุณค่าได้บ้าง และควรกินอาหารชนิดอื่นร่วมด้วย
   - การดื่มชาในปริมาณที่เข้มข้นมาก ๆ จะทำให้เกิดอาการท้องผูก และนอนไม่หลับ
   - ไม่ควรดื่มชาที่ร้อนจัดมาก ๆ เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร ระคายเคืองต่อเซลล์ จะทำให้เกิดโรคมะเร็งสูง
   - การดื่มชาเขียวในปริมาณสูงอาจมีผลในการลดการดูดซึมวิตามิน B1 และ ธาตุเหล็กได้
   - ในกรณีที่ดื่มชาเพื่อต้องการเสริมสุขภาพและป้องกันมะเร็ง การเติมนมในชาก็ไม่ได้ผล เพราะฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเกิดจากสารแทนนิน แต่การเติมนมลงไปนมจะไปจับกับสารแทนนิน ไม่ให้ออกฤทธิ์

แม้จะมีการวิจัยต่างๆ มากมายที่ระบุว่าสาร EGCG ในคาเทซินซึ่งมีอยู่ในชาจะสามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งได้ถึง 50% แต่การทดลองบางแห่งหนึ่งก็พบว่าการ EGCG เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็งในสัตว์อีกชนิดหนึ่ง เพราะความสลับซับซ้อนของเอมไซม์และฮอร์โมนของสัตว์ที่แตกต่างกัน ฉะนั้นการดื่มชาเพื่อสุขภาพที่แท้จริงจึงควรอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะพอดี




ชาเขียวกับความงาม
   - สูตรน้ำแร่ชาเขียว นำน้ำแร่มาต้มให้เดือด ใส่ชาเขียวแบบผงหรือใบชาลงไป อาจเพิ่มใบสะระแหน่สักเล็กน้อย แล้วทิ้งไว้ให้เย็น หรือนำไปแช่ในตู้เย็น ถ้าใช้ใบชา ควรกรองเอาแต่น้ำ เทใส่ขวดสเปรย์ ใช้เป็นสเปรย์น้ำแร่ชาเขียว จะเพิ่มความชุ่มชื่นและความเปล่งปลั่งให้กับผิวหน้า ฉีดได้ทุกเวลาที่ต้องการความสดชื่น
   - สูตรถนอมผิวรอบดวงตา ต้มชาเขียวกับน้ำเดือด แล้วนำไปแช่ตู้เย็นให้เย็นจัด แล้วใช้สำลีชุบชาเขียวให้เปียกชุ่ม นำมาวางบริเวณเปลือกตา ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง จะช่วยลดร่องรอยความอ่อนล้าของผิวรอบดวงตา และยังลดการบวมของเปลือกตาและถุงใต้ตา ผิวจะนุ่มนวลและดูสดชื่นขึ้น
   - สูตรลดน้ำหนัก ดื่มชาเขียววันละ 3 แก้ว จะช่วยเร่งระบบการเผาผลาญพลังงานและและไขมันของร่างกายได้

เนื่องจากประโยชน์ที่มีมาก ชาเขียวจึงไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องดื่มอีกต่อไป แต่ยังเป็นสารอาหารเพื่อสุขภาพอีกด้วย








การล้างพิษด้วยชาเขียว
ชาเขียว ได้รับการยกย่องว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณเป็นยาบำบัดมายาวนาน และยังสอดคล้องกับผลการวิจัยในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย โดยเฉพาะคุณสมบัติที่โดดเด่นของชาเขียวก็ คือ การช่วยล้างพิษออกจากร่างกายได้ลึกถึงระดับเซลล์ สรุปกลไกการทำงานของชาเขียวในการล้างพิษได้ดังนี้

   - ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของชาเขียวช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแข็งตัว โรคหัวใจ ชะลอความชรา ลดขบวนการทำลายสารพันธุกรรมและยับยั้งการก่อมะเร็ง
   - ความจำเพาะเจาะจงในการกระตุ้นเอ็นไซม์ที่ทำหน้าที่ขจัดสารพิษในตับของชาเขียวช่วยเพิ่มขบวนการขจัดสารพิษที่ได้รับจากอาหาร ยา และสารพิษอื่นๆ ได้ดีขึ้น และทำให้สุขภาพของตับดีขึ้นด้วย
   - ความสามารถในการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลมะเร็งของชาเขียว ช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลที่ผิดปกติ เนื้องอก และเซลมะเร็งได้
   - ชาเขียวช่วยให้แบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้มีการพัฒนาการทำงานได้ดีขึ้น จึงลดการแทนที่จากแบคทีเรียที่ไม่ดีได้ ส่งผลให้การเผาผลาญอาหารได้ดีขึ้น
   - ช่วยลดคลอเรสเตอรอล LDL และเพิ่ม HDL ซึ่งเป็นไขมันที่ดี ชาเขียวจึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไขมันอุดตันหลอดเลือดได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อหัวใจและสมอง
   - ชาเขียวสามารถยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นปาก ป้องกันฟันผุ และบรรเทาอาการเหงือกอักเสบ
   - ชาเขียวยังช่วยควบคุมน้ำหนักโดยออกฤทธิ์ร่วมกับ Caffeine ในการเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน ในระหว่างวันของร่างกายให้มากขึ้น


สรรพคุณของชาเขียว
ชาเขียว เป็นเครื่องดื่มซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน รวมถึงสามารถป้องกันมะเร็งผิวหนังได้ด้วย จากงานวิจัยพบว่า ดื่มชาเขียวทุกวันวันละประมาณ 4 แก้ว หรือมากกว่านั้น ช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังได้ เพราะในชาเขียวมีสารแอนติออกซิแดนท์ โพลีฟีนอล ซึ่งมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง สรรพคุณของชาเขียวอีกประการหนึ่ง คือช่วยลดน้ำหนัก จากการวิจัยยังพบอีกว่าสารคาเฟอีนและสารฝาดแคททิคิน ในชาเขียวทำให้เมตาบอลิซึมในร่างกายดีขึ้น เผาผลาญพลังงานได้มาก เป็นผลทำให้น้ำหนักตัวลดลง โดยที่ไม่มีผลกระทบต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ชาเขียวทำมาจากใบชาชนิดเดียวกับที่ใช้ทำชาดำ แต่การทำชาดำจะต้องผ่านการหมัก ส่วนชาเขียวทำจากใบชาตากแห้งเท่านั้น




การใช้ชาเขียวร่วมกับสมุนไพรหรือพืชอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรค
- การใช้ชาเขียวร่วมกับใบหม่อน ที่ช่วยป้องกันโรคหวัด ลดไขมันในเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี
- การใช้ชาเขียวกับส่วนหัวของต้นหอม จะช่วยขับเหงื่อ แก้ไข้หวัด
- การใช้ชาเขียวร่วมกับขิงสด ช่วยรักษาอาการอาหารเป็นพิษและจุกลม ช่วยต่อต้านมะเร็งตับ
- การใช้ชาเขียวร่วมกับตะไคร้แห้งจะช่วยขับไขมันในเส้นเลือด
- การใช้ชาเขียวร่วมกับคึ่นฉ่ายจะช่วยในการลดความดันโลหิต
- การใช้ชาเขียวร่วมกับไส้หมาก ลดน้ำตาลในเส้นเลือด
- การใช้ชาเขียวร่วมกับดอกเก๊กฮวยสีเหลือง จะช่วยแก้วิงเวียนศีรษะ ตาลาย
- การใช้ชาเขียวร่วมกับลูกเดือย จะลดอาการบวมน้ำ ตกขาว และมดลูกอักเสบ
- การใช้ชาเขียวร่วมกับเม็ดเก๋ากี้ จะช่วยลดความอ้วน แก้ตาฟาง
- การใช้ชาเขียวร่วมกับโสมอเมริกา ทำให้สดชื่น บำรุงหัวใจ แก้คอแห้ง
- การใช้ชาเขียวร่วมกับเนื้อลำไยแห้ง จะบำรุงสมอง เสริมความจำ
- การใช้ชาเขียวร่วมกับบ๊วยเค็ม จะช่วยบรรเทาอาการคอแห้ง แสบคอ เสียงแหบ
- การใช้ชาเขียวร่วมกับหนวดข้าวโพด จะลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเส้นเลือด ลดอาการบวมน้ำ
- การใช้ชาเขียวร่วมกับน้ำตาลกลูโคส จะช่วยบรรเทาอาการตับอักเสบ
- การใช้ชาเขียวร่วมกับเม็ดบัว จะช่วยบรรเทาอาการฝันเปียก และยับยั้งการหลั่งเร็ว



ประโยชน์อื่น ๆ ของชาเขียว
   - ทำความสะอาดพรม นอกจากใบชาแห้งจะเป็นยาดับกลิ่นได้ดีแล้ว ยังมีคุณสมบัติต่อต้านหรือหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย ก่อนทำความสะอาดพรมด้วยเครื่องดูดฝุ่น ให้โปรยใบชาแห้งบนพรม ให้ทั่วทิ้งไว้สักครู่หนึ่ง หลังจากนั้นจึงดูดฝุ่นรวมทั้งใบชาทั้งหมด กลิ่นหอมสะอาดของใบชาเขียวจะช่วยทำให้ห้องสดชื่น รวมทั้งทำความสะอาดพรมด้วย
   - ทำความสะอาดเครื่องครัว เราสามารถใช้กากชาเขียวดับกลิ่นคาวต่าง ๆ ได้ โดยหลังจากใช้เขียงประกอบอาหารแล้ว ให้นำไปล้างน้ำ หลังจากนั้นเกลี่ยใบชาเปียกให้ทั่วเขียง ทิ้งไว้สักพักใหญ่แล้วจึงใช้ใบชาขัดถูเขียงให้ทั่ว และล้างออกด้วยน้ำสะอาด น้ำชาต้มก็สามารถนำมาใช้ล้างทำความสะอาดเขียงและอุปกรณ์เครื่องครัวอื่น ๆ ได้เช่นกัน
   - ป้องกันสนิม ใช้ใบชาขัดถูหม้อ หรือกะทะเหล็กป้องกันสนิมได้ สารแทนนิน (tannin) ในใบชาจะจับตัวกับเหล็กและสร้างสารเคลือบบาง ๆ บนพื้นผิวหม้อหรือกะทะเพื่อป้องกันสนิม
   - น้ำยาบ้วนปาก กลั้วปากด้วยชาเขียวช่วยทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในปาก สารฟลูออรีนในชาเขียวช่วยทำให้ฟันแข็งแรง ป้องกันฟันผุและเหงือกอักเสบ ไม่จำเป็นต้องใช้ชาเขียวชงครั้งแรกกลั้วปาก ดื่มชาให้ชื่นใจก่อน หลังจากนั้นคุณสามารถใช้ชาเขียวชงครั้งที่สามหรือสี่ได้
   - ประคบดวงตาให้สดใส นำถุงชาที่เปียกและเย็น ทั้งที่ใช้แล้วหรือถุงชาเก่าที่ไม่ได้ใช้ วางบนเปลือกตาจะช่วยคลายความเมื่อยล้าและทำให้ดวงตาสดใส
   - ผสมน้ำอาบ นำถุงชาใช้แล้วหรือใบชาใส่ถุงผ้าฝ้ายบาง ๆ มัดให้แน่นแช่ทิ้งไว้ในอ่างอาบน้ำอุ่น น้ำอุ่นผสมน้ำชาจะทำให้คุณรู้สึกสดชื่น
   - หมอนใบชา กลิ่นหอมบาง ๆ จากใบชาจะช่วยให้เราหลับสบายขึ้น การดูแลรักษาทำได้ง่ายโดยนำหมอนที่ทำจากใบชาออกตากในที่ร่ม เพื่อระบายอากาศเป็นประจำ สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง
   - เป็นเครื่องหอม นำใบชามาเผาเป็นเครื่องหอมจะให้กลิ่นหอมมาก
   - ยาดับกลิ่นในตู้เย็น ให้นำถุงผ้าฝ้ายบ้าง ๆ บรรจุใบชาหรือถุงชาใช้แล้วใส่ไว้ในตู้เย็น สามารถขจัดกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนาในตู้เย็นได้
   - ปุ๋ย ให้นำกากชาไปใส่ที่กระถางต้นไม้ ใช้เป็นปุ๋ยแทนได้

เกี่ยวกับ "ชาเขียว"


ประเภทของชาเขียว 
ชาเขียวแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 


ชาเขียวญี่ปุ่น แบบมัทฉะ

   - ชาเขียวแบบญี่ปุ่น ชาเขียวแบบญี่ปุ่นไม่ต้องคั่วใบชา ชาเขียวมีสารอาหารพวกโปรตีน น้ำตาลเล็กน้อย และมีวิตามินอีสูง



   - ชาเขียวแบบจีน ชาเขียวแบบจีนจะมีการคั่วด้วยกระทะร้อนก่อนนำมาชงดื่ม




วิธีเก็บรักษาใบชา
วิธีเก็บรักษาใบชา ควรเก็บในที่แห้ง ณ อุณหภูมิห้อง ในภาชนะที่ปิด สนิท และปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
   - บรรจุซองฟอยด์ ให้รีดลมออกให้หมด เพื่อมิให้กลิ่นกระจายหาย และ คงให้ใบชาสดใหม่อยู่เสมอ
   - บรรจุภาชนะอื่น ภาชนะนั้นต้องทึบแสง เช่น กระป๋องไม้ หรือกระป๋อง อะลูมิเนียม หลีกเลี่ยงการเก็บใบชาไว้ในภาชนะที่แสงสามารถลอดผ่านได้ เนื่องจากมีผลเสียต่อใบชา
   - ภาชนะนั้นๆต้องปราศจากกลิ่นแปลกปลอมใดๆ เนื่องจากใบชามีคุณ สมบัติดูดกลิ่นอย่างดี ดังนั้นควรทำความสะอาดภาชนะนั้นด้วยน้ำสะอาด หลายๆครั้ง จนแน่ใจว่าสะอาดที่สุดแล้ว
   - ไม่ควรวางไว้ใกล้สถานที่ที่มีกลิ่นความรุนแรง หรือกลิ่นแปลกปลอม ต่างๆ


การชงชา 
การชงชาไม่ควรใช้เวลานานเกินไป เพราะวิตามินเอและวิตามินอีที่มีอยู่ในใบชาจะสูญเสียไปเกือบหมดถ้าใช้ระยะเวลาในการชงนานจนเกินไป ส่วนปริมาณของแคลเซียม เหล็ก และวิตามินซีจะสูญเสียไปประมาณครึ่งหนึ่ง

การชงชาให้ได้รสชาติดี มีข้อสำคัญ 4 ประการ คือ

   1.) ปริมาณใบชา จะใช้ใบชาเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของใบชา เช่น ชาที่มีรูปกลมแน่น กลมกลวม หรือเป็นเส้น ถ้าใช้ใบชาที่มีลักษณะกลมแน่น จะใช้ชาประมาณ 25 % ของกาชา ใบชาเมื่อแช่อยู่ในน้ำร้อน จะเริ่มคลี่ตัวออกทีละน้อย จนเป็นใบชัดเจน ถ้าใส่มากเกินไป จะทำให้การคลาย ตัวไม่สะดวก ซึ่งรสชาติที่ชงออกมาจะไม่ได้ตามมาตรฐานของชานั้นๆ และ การเสียของใบชา เมื่อคลายตัวออกมาเต็มที่ ควรจะมีปริมาณประมาณ 90% ของกาชา
   2.) อุณหภูมิน้ำ น้ำที่ชงชาไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเดือด 100 องศาเซลเซียส แต่ต้องดูว่าจะชงชาประเภทใด เช่น อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียสขึ้นไป เหมาะสำหรับชงชาที่ทรงแน่นกลม อุณหภูมิ 80 - 90 องศาเซลเซียส เหมาะสำหรับชาที่มีรูปร่างบอบบาง แตกหักง่าย หรือชาที่มีใบอ่อนมาก อุณหภูมิต่ำกว่า 80 องศาเซลเซียส ใช้ชงกับชาเขียวทั่วๆไป
   3.) เวลา การใช้เวลานานหรือไม่นานนั้น จะบอกได้ว่า น้ำชาจะอ่อนหรือ แก่ โดยปกติใบชาประเภทกลมแน่น จะใช้เวลาในครั้งแรกประมาณ 40 - 60 วินาที ครั้งต่อๆไป เพิ่มอีกครั้งละ 10 - 15 วินาที/ครั้ง
   4.) กาชา กาที่ใช้ควรเป็นกาที่ทำจากดินเผา กาดินเผาจะเก็บความร้อน ได้ดีกว่า และให้การตอบสนองที่ดีกว่ากาที่ทำจากวัสดุอื่น





ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


กำเนิดชา




          ชา เป็นผลผลิตทางเกษตรกรรมจากใบ ยอดอ่อน และก้านของต้นชา  (Camellia sinensis) นำมาผ่านกรรมวิธีแปรรูปหลากหลาย "ชา" ยังหมายรวมถึงเครื่องดื่มกลิ่นหอม ที่ทำจากพืชตากแห้งชนิดต่างๆ นำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อน นอกจากนี้ ชา ยังเป็นเครื่องดื่มที่มีการบริโภคมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำเปล่า

ชา สามารถแยกอย่างง่ายๆ ได้ 6 ประเภท ได้แก่ ชาขาว ชาเหลือง ชาเขียว ชาอูหลง ชาดำ และชาผูเอ่อร์ แต่ที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ ชาขาว ชาเขียว ชาอูหลง และชาดำ ซึ่งชาทุกชนิดสามารถทำได้จากต้นชาต้นเดียวกัน แต่ผ่านกรรมวิธีแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ชาขาวคุณภาพดี ต้องปลูกโดยวิธีพิเศษ ส่วนชาผูเอ่อร์ ซึ่งเป็นชาที่ได้รับการหมักบ่ม ยังใช้เป็นยาได้ด้วย


คำว่า "ชาสมุนไพร" นั้น หมายถึง น้ำที่ชงจากสมุนไพร ใบไม้ ดอกไม้ หรือผลไม้ ของพืชอื่นๆ ที่ไม่มีส่วนผสมจากต้นชา ส่วนคำว่า "ชาแดง" นั้น หมายถึง น้ำที่ชงจากชาดำ (ใช้เรียกกันในเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น) และน้ำที่ชงจากต้นรอยบอส(Rooibos) ของประเทศแอฟริกาใต้


การจัดประเภทและการแปรรูป

          ชา ถูกจัดประเภทตามกระบวนการแปรรูป หลังจากการเก็บเกี่ยว ใบของต้นชาจะถูกทิ้งให้สลด และ "บ่ม" โดย ทำให้เอนไซม์ในใบชาเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับออกซิเจนในอากาศ ใบชาจะมีสีเข้มขึ้น คลอโรฟิลล์ในใบชาจะแตกตัว กลายเป็นสารแทนนินที่ให้รสฝาด ต่อจากนั้น ต้องหยุดการทำงานของเอนไซม์ โดยใช้ความร้อน เพื่อให้หยุดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น โดยในชาดำ กระบวนการนี้จะดำเนินคู่กันไปกับการทำให้แห้ง

หากไม่ระมัดระวังในการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิระหว่างกระบวนการผลิต ใบชาอาจขึ้นรา เกิดปฏิกิริยาสร้างสารพิษที่อาจเป็นสารก่อมะเร็งขึ้นได้ ทำให้รสชาติเสียไป และอันตรายต่อการบริโภค

ชา สามารถจัดประเภทตามกระบวนการแปรรูปต่างๆ ได้ดังนี้ต่อไปนี้


ชาขาว


ชาขาว: ตูมชาและยอดอ่อนชาที่ถูกทิ้งให้สลด แต่ไม่ได้บ่ม เมื่อชงชาแล้วจะได้เครื่องดื่มที่มีสีเหลืองอ่อน



ชาเหลือง


ชาเหลือง: ใบชาที่ไม่ได้ถูกทิ้งให้สลด และไม่ได้บ่ม แต่ทิ้งใบชาให้เป็นสีเหลือง


ชาเขียว


ชาเขียว: ใบชาที่ไม่ได้ถูกทิ้งให้สลดและไม่ได้บ่ม เมื่อชงจะได้เครื่องดื่มสีเขียวอ่อน


ชาแดง


ชาแดง: ใบของชาเขียวที่ผ่านกระบวนการออกซิเดชั่นหรือการหมัก จนได้เป็นใบชาสีเข้ม เมื่อชงจะได้เครื่องดื่มสีน้ำตาลแดง


ชาอูหลง


ชาอูหลง: ใบชาที่ทิ้งให้สลด นวด และบ่มเล็กน้อย เครื่องดื่มที่ได้จะมีสีเขียวทอง


ชาดำ


ชาดำ: ใบชาที่ทิ้งให้สลด (อาจมีการนวดอย่างแรง) และผ่านการบ่มเต็มกระบวนการ เครื่องดื่มที่ได้มีสีแดงเข้มจนถึงสีดำ


ชาหมัก (ชาผู่เอ๋อ)


ชาหมักหรือชาผู่เอ๋อ: ชาเขียวที่ผ่านกระบวนการหมักนานนับปี




ต้นกำเนิดการชงชา


การชงชามีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนกว่า 4,000 ปีก่อน กล่าวคือเมื่อ 2,737 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาได้ถูกค้นพบโดยจักรพรรดินามว่า เสินหนง ซึ่งเป็นบัณฑิตและนักสมุนไพร ผู้รักความสะอาดเป็นอย่างมาก ดื่มเฉพาะน้ำต้มสุกเท่านั้น วันหนึ่งขณะที่เสินหนงกำลังพักผ่อนอยู่ใต้ต้นชาในป่า และกำลังต้มน้ำอยู่นั้น ปรากฏว่าลมได้โบกกิ่งไม้ เป็นเหตุให้ใบชาร่วงหล่นลงในน้ำซึ่งใกล้เดือดพอดี เมื่อเขาลองดื่มก็เกิดความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาก ชาเขียวถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงศตวรรษต่างๆ ดังนี้


ช่วงศตวรรษที่ 3

ชาเป็นยา เป็นเครื่องบำรุงกำลังที่ได้รับความนิยมมากในช่วงศตวรรษที่3ชาวบ้านก็เริ่มหันมาปลูกชากันและพัฒนาขั้นตอนการผลิตมาเรื่อยๆ


ช่วงศตวรรษที่ 4 และ 5

ชาในประเทศจีนได้รับความนิยมมากขึ้นและได้ผลิตชาในรูปของการอัดเป็นแผ่นคือ การนำใบชามานึ่งก่อน แล้วก็นำมา กระแทก ในสมัยนี้ได้นำน้ำชาถึงมาถวายเป็นของขวัญแด่พระจักรพรรดิ


สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 906)

ถือเป็นยุคทองของชา ชาไม่ได้ดื่ม เพื่อเป็นยาบำรุงกำลังอย่างเดียว แต่มีการดื่มเป็นประจำทุกวัน เป็นเครื่องมือเพื่อสุขภาพ


สมัยราชวงศ์ซ้อง (ค.ศ. 960 – 1279)

ชาได้เติมเครื่องเทศแบบใน สมัยราชวงศ์ถังแต่จะเพิ่มรสบางๆ เช่น น้ำมันจากดอกมะลิ ดอกบัว และดอกเบญจมาศ


สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 - 1644)

ชาที่ปลูกในจีนทั้งหมดเป็นชาเขียว สมัยนั้นกระบวนการผลิตชาได้พัฒนาขึ้นไปอีก ไม่อัดเป็นแผ่น แต่มี การรวบรวมใบชา นำมานึ่ง และอบแห้ง ซึ่งจะเก็บได้ไม่ดีนัก สูญเสียกลิ่นได้ ง่าย และรสชาติไม่ดี ในช่วงศตวรรษที่ 17 มีการค้าขายกับชาวยุโรป การผลิตเพื่อจะรักษาคุณภาพชาให้นานขึ้น โดยได้คิดค้นกระบวนการที่ เราเรียกว่า การหมัก เมื่อหมักแล้วก็จะนำไปอบ ซึ่งก็เป็นที่มาของชาอูหลง และชาดำ ในประเทศจีน มีการแต่งกลิ่นด้วย โดยเฉพาะกลิ่นดอกไม้





อุปกรณ์การชงชา






1. ป้านชา (ปั้นชา ก็เรียก) ส่วนใหญ่นิยมเป็นป้านดินเผา เพราะเชื่อว่าจะสามารถขับสี กลิ่น รส ออกมาได้อย่างเต็มที่ นิยมชงในป้านเล็กขนาดเท่ากำปั้น

 2. จอกชา เป็นจอกขนาดเล็ก ด้านในควรเป็นสีขาว เพื่อที่จะสามารถมองเห็นสีน้ำชาได้อย่างชัดเจน และปากจอกควรบานออก เพื่อที่จะสามารถ จับยกขึ้นดื่มได้ เวลามีน้ำชาร้อนๆ อยู่ในถ้วย


 3. เหยือกพักน้ำชา เนื่องจาก การแช่ชา ไว้ในป้านนานๆ จะทำให้สารชนิดหนึ่ง เรียกว่า "แทนนิน" (tannin) คือสารที่มีรสฝาด ซึ่งจะส่งผลต่อกระเพาะอาหาร ทำให้รู้สึกท้องอืด และท้องผูก การชงชา ถ้าแช่ชาในป้านนานๆ สารแทนนิน ก็จะออกมามาก จึงควรแช่ชาในป้านชา ประมาณ 1-2 นาที แล้วเทพัก ไว้ที่เหยือกพักน้ำชา และรินใส่จอก จากเหยือก จะดีกว่า (ชาที่ชงรอบที่ 3 ขึ้นไป อาจเพิ่มเวลาขึ้นอีก รอบละ "15 วินาที" แต่เวลาการแช่ชาทั้งหมด "ไม่ควรเกิน 5 นาที" )


 4. ที่กรองชา เอาไว้กรองเศษใบชา (อาจจะไม่ใช้ก็ได้) เศษใบชาก็ทานได้ ไม่เป็นอันตราย แต่หากชอบ ให้น้ำชาใส ไม่มีตะกอน ก็ให้ใช้ที่กรองชา


 5. ถ้วยปากกรวย ใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเทใบชาลงป้าน


6. อุปกรณ์สำหรับ ตัก-คีบ (จะได้อธิบายรายละเอียดต่อไป...)


 7. ถาดน้ำชา ถาดน้ำชามีหลายแบบ เป็นแบบอลูมิเนียมก็มี แบบกระเบื้องเคลือบ แบบดินเผา หรือแบบไม้ ถาดน้ำชาจะมีช่องระบายน้ำ และน้ำที่เราใช้ลวกถ้วยต่างๆ ก็จะลงไปอยู่ชั้นข้างล่าง บางแบบมีที่ต่อสายยาง เพื่อระบายน้ำออกเพิ่มความสะดวก






6.1 ช้อนตักใบชา ปกติ การใช้มือหยิบใบชา ออกจากภาชนะบรรจุ อาจทำให้ความชื้นในมือของเราไปทำปฏิกิริยา กับ ใบชา ยิ่งเป็นชาที่ ขี้สำออย แบบชาอู่หลง หรือชาเขียว ที่ไม่ค่อยถูกกับความชื้น จะทำให้ชานั้นมีรสชาเสียไป จึงควรใช้ช้อน หรือ เทใส่ฝ่ามือ ไม่ควรใช้มือล้วงหยิบจากภาชนะโดยตรง

6.2 ที่เขี่ยใบชา ใช้สำหรับ เขี่ยใบชาในป้านชาออก เมื่อจะเปลี่ยนชาใหม่ (จะได้อธิบายวิธีใช้ด้านล่าง)

6.3 คีมคีบ ใช้คีบจอกชา ตอนลวกจอก ป้องกันไม่ให้ถูกน้ำร้อนลวกมือ


6.4 ไม้ปลายแหลม สำหรับ เอาไว้แทงสวนเข้าไป ในพวยกา เวลามีเศษใบชาติดอยู่ ซึ่งทำให้เวลาริน น้ำชาจะไหลออกมาไม่สะดวก (จะได้อธิบายวิธีใช้ต่อไปทางด้านล่าง)

6.5 กรวย อันนี้สำหรับ ใช้วางบนปากของป้านชา เวลาตักชาใส่ป้าน เพื่อไม่ให้ หล่นกระจัดกระจาย






A. การใช้ที่เขี่ยใบชา เขี่ยชาที่ชงแล้วออกจากป้าน (อุปกรณ์ 6.2)


B. การใช้ไม้แหลม แทงเข้าไปที่พวยของป้านชา เพื่อเขี่ยเศษชาที่อุดตัน (อุปกรณ์ 6.4)



ขั้นตอนการชงชาแบบประณีต มีดังนี้




1. ใช้ช้อนตักใบชาออกจากภาชนะบรรจุ


2. เทใบชาจากช้อนลงป้านชา


3. เทน้ำร้อนใส่ในป้าน (ขณะเทน้ำร้อนลงไป ควรยกให้สูง ให้น้ำร้อน กระแทกใบชา เพื่อให้ใบชาคลี่ตัวออก ตามหลัก "ชงสูง รินต่ำ" )


4. ใส่น้ำร้อนแล้ว รีบเทออก น้ำแรกไม่นิยมดื่ม ถือว่าเป็นการล้างใบชา (เหมือนการซาวข้าว)




5. บางคนอาจจะถือโอกาสใช้น้ำนี้ล้างจอกไปด้วยเลย


6. ใช้คีมคีบ เพื่อลวกจอกแต่ละใบ 



7. ใช้น้ำที่ลวกใบชาครั้งแรก เทลวกป้านด้านนอกเพื่อรักษาอุณหภูมิ



8. เมื่อลวกจอก ครบทุกใบแล้ว รินน้ำชง ขณะชงควรยกให้สูง เพื่อที่น้ำร้อนจะได้กระแทกใบชาให้คลี่ตัว (ชงสูง รินต่ำ)







9. ปิดฝา และควรใช้น้ำร้อน เทราด ป้านชาด้านนอกเพื่อรักษาอุณหภูมิ และทิ้งไว้ชั่วอึดใจ (ประมาณ 45 วินาที - 1 นาที) [การเทน้ำร้อนราดป้านชา นอกจากเพื่อรักษาอุณหภูมิแล้ว ยังเป็นการจับเวลาด้วย คือ ถ้าน้ำร้อนที่ราดบนป้าน แห้งสนิทเมื่อใด ก็หมายถึง น้ำชาที่ชงนั้นได้ที่พร้อมรินเสิร์ฟแล้ว] 

10. เมื่อได้ที่แล้ว รินน้ำชาจากป้าน โดยริน วน ทุกจอก ไม่ควรรินทีละจอก เพื่อให้น้ำชาทุกจอก รสชาติเหมือนกัน หากรินทีละจอก น้ำชาที่ได้จากจอกใบแรกอาจจะมีรสจืดสุด ส่วนน้ำชาจากจอกใบสุดท้าย ก็จะมีรสเข้มที่สุด และควรรินให้ต่ำ เพราะกลิ่นใบชาจะได้ไม่เจือจาง ไปกับอากาศ (ตามหลัก ชงสูง รินต่ำ)

11. เชิญแขกหรือเพื่อนฝูงที่มาเยี่ยมที่บ้านดื่ม

12. หยิบดื่มกันตามอัธยาศัย  







13. การชงชารอบที่ 2 เป็นต้นไป ไม่จำเป็นต้องทำแบบขึ้นตอนเบื้องต้น เพราะว่าแขกหรือเพื่อน บางท่านอาจจะยังดื่มชาไม่หมด ดังนั้นเมื่อชงชาได้ที่แล้วก็รินไว้ในเหยือกพักน้ำชา

14. เมื่อแขกหรือเพื่อนคนใดดื่มชาหมดแล้ว ก็รินเสิร์ฟ ให้เป็นรายคนไป (การรินชาพักไว้ในเหยือกพักชา น้ำชาที่ได้ จะมีรสชาติเท่ากัน จึงสามารถรินเสิร์ฟเป็นจอกๆ ได้)

*ถึงตรงนี้ มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกอย่างหนึ่งคือ การรินชาเสิร์ฟรอบที่ 3 นั้น ควรให้เพื่อนหรือแขก เป็นฝ่ายรินเอง เพราะมีภาษิตชาบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า "จอกแรกคือต้อนรับ , จอกสองคือสนทนาพาที , จอกสามคือส่งผู้มาเยือน" นั่นก็คือ ถ้าเราเสิร์ฟชาจอกที่สามให้แขก ก็แสดงว่าเรากำลังจะไล่เขากลับบ้าน 








ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  และ http://www.icontea.com/article-34.html